“ความรัก” แค่ได้ยินคำนี้ก็รู้สึกดีแล้วใช่ไหมล่ะ มนุษย์อย่างเราๆ จะมีชีวิตชีวา หรือแฮปปี้กระปรี้กระเปร่าได้ ก็ต้องเกิดจาก “ความรัก” ยอมรับเถอะว่า เราทุกคนนั้นต้องการความรักกันทั้งนั้นแหละ แต่ก็อย่างว่าความรักนั้นลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนเป็นที่สุด เชอร์ล็อก โฮมส์ก็คงยังหาข้อสรุปให้เราไม่ได้ ซึ่ง! ถึงมันจะซับซ้อน แต่มันก็มีทฤษฎีอธิบายอยู่นะ ทฤษฎีความรักอ่ะ อั้ย <3

ทฤษฎีสามเหลี่ยมของ รูปแบบความรัก (Triangular Theory of Love) ของ Robert Sternberg ที่ประกอบด้วย ความหลงใหล (Passion) ความใกล้ชิดผูกพัน (Intimacy) และความผูกมัด (Commitment) นั่นเอง ฟังดูโรแมนติ๊กกก โรแมนติกเนอะ หม่ะ! The Passion จะมาสรุปให้รู้กัน! เรามาเช็คกันว่าสถานะความรักเราอยู่ในตำแหน่งไหนกับคนคุยตอนนี้ หรือว่าเรารักเขาแบบไหนกันดีกว่า

 

1. รักแรกพบ / Infatuation (Passion)

รักแรกพบ แท้จริงเป็นอย่างไร… สำหรับความรักประเภทนี้คงเป็นความรักที่เราคุ้นเคยกันดี ก็คือพวกเห็นหน้าครั้งแรกก็ปิ๊งเลย แบบมีรังสีอัลตราไวโอเลตแผ่มาให้เรารู้สึกร้อนๆ รุ่มร้อนในใจแปลกๆ อะไรประมาณนั้น มีการจินตนาการว่านี่ต้องเป็นพรหมลิขิตแน่ๆ เคยคิดกันใช่ไหมล่ะ ;P รูปแบบนี้เป็น Love at first sight ที่ยังไม่ต้องการความเข้าใจ หรือเงื่อนไขใดๆ ความรักประเภทนี้มักทำให้หัวใจเราเต้นรัว รู้สึกวูบวาบเหมือนมีผีเสื้อบินอยู่ในท้อง นั่นแหละค่ะ อาการของรักครั้งแรก

ซึ่งคุณผู้ชายส่วนใหญ่มักจะตกหลุมรักสาวๆ ในรูปแบบนี้แหละ ผู้ชายมักชอบผู้หญิงได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักตัวตนของสาวคนนั้นเลย แค่เขารู้ว่าเธอคนนั้นมีอะไรน่าสนใจ เขาก็พร้อมจะแอบปลื้มละ ดังนั้นสาวๆ จ๋า ต้องหมั่นดูแลตัวเองด้วยนะ อย่าหยุดสวย!

และแน่นอนว่าเมื่อมันมาแค่ Passion เพียงอย่างเดียว ประมาณว่ายังไม่รู้จักตัวตนเขาก็หลงไปแล้ว จึงยังไม่มีความรู้สึกใกล้ชิดผูกพัน (Intimacy) และไม่มีการวางแผนอนาคตที่จะใช้ชีวิตด้วยกัน (Commitment) ส่วนมากแล้วความรักประเภทนี้จึงมักมาแบบมาเร็ว ไปเร็ว หมดรักง่ายๆ เมื่อเวลาผ่านไป

 

2. ชอบเฉยๆ / Liking (Intimacy)

“ชอบ” ไม่เหมือนกับ “หลง” มันจะมีความเป็น Platonic Feeling มากกว่า เป็นอารมณ์รักอย่างบริสุทธิ์ อยากปกป้องดูแลทะนุถนอมโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ มิตรภาพระหว่างเพื่อนนี่แหละจัดว่าเป็นความรักประเภทนี้

ความชอบมักเกิดเมื่อเราสนิทสนมกับใครบางคนมากขึ้น กล้าเป็นตัวของตัวเอง คุยถูกคอ ทัศนคติคล้ายกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน อะไรประมาณนี้ แต่ไม่ได้ชอบถึงขั้นหลงหรืออยากผูกมัด ดังนั้นจึงมีคำว่า Friend Zone มาใช้เป็นเหตุผลอยู่บ่อยๆ อารมณ์ว่า ชอบนะ แต่เป็นเพื่อนกันดีกว่า อยู่ได้นานกว่า จึงมีหลายคนที่คิดว่าหยุดไว้ตรง Friend Zone ดีกว่าการพัฒนาเป็นมากกว่านั้น สถานะนี้มันช่างซับซ้อน เชื่อเลยว่าบางคนก็ยังคงสับสนกับสถานะแบบนี้ จริงไหม?

แต่จะว่าไป ความชอบก็เป็นจุดเริ่มที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้กลายเป็นความรักโรแมนติกนะคะ ก็มีหลายคู่นะที่เป็นเพื่อนกันก่อนที่จะกลายเป็นแฟน แล้วก็คบกันยืดยาวเลยล่ะ

 

3. รักที่ว่างเปล่า / Empty Love (Commitment)

อ๊า.. คิดว่าเป็นการหมดรักกันล่ะสิ ฟังดูความหมายเชิงลบเนอะ แต่จริงๆ แล้ว รักที่ว่างเปล่ามันหมายถึงความรักที่ยาวนานและยั่งยืนต่างหาก อารมณ์ว่า ความรักมันถึงจุดอิ่มตัวจนเริ่มจางหายไป ตอนนี้ก็ไม่ได้หลงใหลในรูปร่างหน้าตาเขาอีกต่อไป แต่เราก็ยังอยู่ด้วยกันนะ ยังคบกัน ยังพร้อมช่วยเหลือกัน คล้ายกับอยู่ด้วยกันเพราะหน้าที่มากกว่าอารมณ์โรแมนติก ส่วนมากมักพบในคู่รักที่แต่งงานกันนั่นแหละ

 

4. รักสายฟ้าแลบ / Fatuous Love (Commitment + Passion)

ความรักแบบนี้จะทั้งข้อผูกมัดและความหลง ก็คือพวกที่เจอกันไม่กี่วัน รักกันไม่กี่สัปดาห์ก็แต่งงานกันแล้ว เป็นความรักที่หลงจนโงหัวไม่ขึ้น หลงหนักมาก พร้อมอุทิศกายให้เขาเลย พวกนี้จะเป็นความรักที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและจบลงด้วยการแต่งงานกันอย่างรวดเร็ว

ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่าคู่รักที่มีความรักแบบนี้จะอยู่ด้วยกันได้เป็นเวลานาน แต่พวกเขาจะไม่ยอมรับคู่ของตัวเองให้เป็นเพื่อนคู่ชีวิตได้… (แอบดราม่าเล็กๆ)

 

5. รักหวานแหวว / Romantic Love (Passion + Intimacy)

มาในส่วนของรักหวานแหววกันบ้างนะคะสาวๆ ความรักที่ประกอบด้วยความหลงที่ทำให้รู้สึกดึงดูดซึ่งกันและกัน บวกกับความชอบที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกผูกพันกัน ฟังแล้วดูเหมือนว่านี่จะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด แต่ความจริงแล้วหากความรักที่ปราศจาก “พันธะสัญญา (Commitment)” มันจะกลายเป็นความรักที่โฟกัสกับ ‘ปัจจุบัน’ มากกว่าพูดถึงเรื่อง ‘อนาคต’ แล้วเมื่อเราตัดสินใจอยู่ด้วยกันโดยไม่มีพันธะสัญญา เมื่อนั้นจะเป็นช่วงเสี่ยงของการเลิกกัน! ทำไมน่ะหรอ? เพราะการอยู่ด้วยกันนั้นมีอะไรที่มากกว่าความชอบและความหลง มันต้องพร้อมเสียสละและพร้อมอุทิศให้แก่กันค่ะท่านผู้โช้มมม

 

6. รักแบบเห็นอกเห็นใจกัน / Companionate Love (Intimacy + Commitment)

ความรักประเภทนี้ จัดว่าเป็นความรักที่ดราม่าหนักหน่วงเว่อร์ คือมันเป็นความรักที่เต็มไปด้วยความผูกพัน ชอบกัน ทำสิ่งดีๆ ให้ ยอมเสียสละและอุทิศตัวให้ ทว่ามันดันเป็นความรักที่ไม่หลงใหล ไม่รู้สึกว่า ‘ฟิน’ หรือตื่นเต้นเวลาจับมือ มองหน้ากัน หรือนู่นนี่นั่น (ให้ไปคิดเอาเองต่อกันนะ ;P) สาวๆ อาจคิดว่าเราต้องเลือกคนที่ดี เป็นรักรูปแบบนี้จะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่สุดแล้ว แต่นักจิตวิทยาเขาระบุว่าความสัมพันธ์แบบนี้จะขาดซึ่งความใคร่ต่อกัน ก็คงเหมือนการที่ดีแค่ไหน บางทีความดีก็ทำให้ฟินไม่ได้อ่ะ จบนะคะ

แต่รักแบบเห็นอกเห็นใจกันยังเป็นรูปแบบความรักที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไปได้ด้วย เช่น ความรักของคนในครอบครัว หรือความรักของเพื่อนสนิท ซึ่งเป็นความรักที่มีการคุ้นเคยกันมานาน ในบรรดาความรักทุกรูปแบบ นี่ถือว่าเป็นความรักที่ยาวนานที่สุดเลยล่ะ

7. รักแท้ / Consummate Love (Passion + Intimacy + Commitment)

 

เป็นความรักที่มีองค์ประกอบครบถ้วน ทั้งความหลงใหล ความผูกพัน และพันธะสัญญา มันคือความรักในอุดมคติ ซึ่ง Sternberg กล่าวว่าความรักแบบนี้หายาก คู่รักจะต้องใช้ความพยายามในการสร้างมันขึ้นมาเป็นอย่างมาก และเมื่อสร้างมา มันก็ยากอีกที่จะรักษาให้มีอยู่ได้ตลอดเวลา อู้ว..

ท่านผู้อ่านอาจนึกว่าเรากำลังอยู่ในละครช่อง 3! แต่เปล่า เรายังอยู่ใน The Passion กันอยู่นะคะ ;P การจะทำให้รักแท้ยังคงเป็นรักแท้อยู่เสมอนั้น คู่รักต้องมีความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นจากความหลงใหล ความอุ่นใจที่เกิดขึ้นจากความชอบกับความผูกพัน ผสานกับจิตวิญญาณความเสียสละที่เกิดจากพันธะสัญญา ทั้งหมดนี้เป็นส่วนผสมที่ทำให้รักแท้หรือความรักในอุดมคติคงอยู่ตลอดกาลค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างกับความรัก 7 รูปแบบ เหนื่อยกันเลยใช่ไหมคะ ทำไมความรักมันถึงได้ยากอะไรขนาดนี้ ก็นี่แหละนะคะ ถ้ามันง่าย ความรู้สึกเวลาสมหวังก็คงจะไม่ฟินเท่านี้หรอกนะคะ แบบนั่งยิ้ม เดินยิ้มเองคนเดียว กระโดดกรี๊ดกร๊าดได้ไม่แคร์ใคร เนี่ยแหละ เพราะความรักทำให้เรามีพลัง ดังนั้น สาวๆ อย่าเพิ่งท้อใจกับความรักตอนนี้กันไป เรามาเสาะหารักแท้ของเรากันต่อดีกว่า ถึงจะไม่ใช่รักแท้ แต่อย่างน้อยในชีวิตหนึ่งเราก็เคยมีความรักให้กระชุ่มกระชวยหัวใจนะ <3