เป็นที่ทราบกันดีว่า ในยุคปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กดดันให้คนเราใช้ชีวิตกันอย่างเคร่งเครียดและเร่งรีบ จึงเป็นสาเหตุให้คนในยุคนี้มีสภาพจิตใจที่อยู่ในภาวะกดดันอยู่ตลอดเวลาและเป็นสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้า

สาว ๆ คะ โรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคที่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นได้ยาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจ การจัดการกับปัญหาชีวิตไปจนถึงสภาพร่างกาย ณ ตอนนั้นของคน ๆ นั้นอีกด้วย อย่างที่เราหลาย ๆ คนเคยได้ยินกันว่า โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากสภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนดอย่างเดียว หากแต่เกิดจากร่างกาย และสารเคมีในสมองที่ผิดปกติด้วย จึงทำให้คนที่อยู่ในภาวะนี้มีพฤติกรรมและความคิดแปลกแตกต่างไปจากคนปกตินั่นเอง

คำถามคือ แล้วหากคนรอบข้างหรือคนใกล้ตัวของเราเป็นโรคนี้ขึ้นมาล่ะ เราควรทำอย่างไรดี? อย่างที่บอกค่ะ มันเกิดคำถามนี้ขึ้นเพราะหลาย ๆ ครั้งที่เราเห็นข่าวการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เราก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าคนใกล้ตัวของเราเป็นแบบนี้ เราควรจะจัดการกับเขาอย่างไร วันนี้ The Passion มีคำตอบมาฝากสาว ๆ ไปดูกันเลยค่ะ

โรคซึมเศร้า
huffingtonpost.de

# 1. ให้ความรักและความสนใจ

แหม…ชื่อโรคก็บอกอยู่ว่าโรคซึมเศร้า แน่นอนว่าคนที่เป็นจะต้องมีอาการเศร้า เครียด เหงา ซึมและคิดแง่ลบอย่างแน่นอน จะให้มาแฮปปี้มีความสุขก็ใช่เรื่อง ถ้าหากคนใกล้ตัวของเรามีอาการแบบนี้และฟันธงเขาเป็นโรคซึมเศร้าแน่ ๆ สิ่งสำคัญที่เราทำได้คือ การให้ความรักและให้กำลังใจ คอยใส่ใจดูแลรวมถึงการพูดแต่เรื่องแง่บวกให้เขาฟังอยู่เสมอ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าเนี่ย จริง ๆ แล้วเขาต้องการให้คนรอบข้างสนใจ ใส่ใจและคอยดูแลเป็นพิเศษนะคะ อย่างที่เราจะได้ยินคำนี้เสมอว่า “ความรักชนะทุกสิ่ง” มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ความรักถือเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์ทุกคนต้องการ และเพราะความรักนี่แหละที่เปลี่ยนคนมานักต่อนักแล้ว ดังนั้นหากเราอยากให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอาการดีขึ้น อย่างแรกเลยที่เราควรกระทำคือการให้ความรัก ความสนใจในตัวของเขา คอยอยู่ข้าง ๆ แล้วเชื่อเถอะค่ะว่าอาการของคน ๆ นั้นจะดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อเลยล่ะ !

cnn.com

# 2. ทำความเข้าใจผู้ป่วย

คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แน่นอนว่าเขาเองไม่เพียงแต่ต้องการความรักและกำลังใจจากคนรอบข้างเท่านั้น หากแต่ยังต้องการให้คนข้าง ๆ เข้าใจเขาอีกด้วย ดังนั้น เมื่อเราพบว่าคนใกล้ตัวของเราป่วยเป็นโรคนี้ จริง ๆ แล้วสิ่งแรกที่เราควรทำคือ ทำความเข้าใจตัวโรคและอาการที่เขาเป็น อย่าพยายามทำเป็นไม่สนหรือทำเมิน เพราะจะทำให้คนที่เศร้าอยู่แล้ว เศร้าหนักไปกว่าเดิม อีกคำพูดหนึ่งที่ไม่ควรพูดกับคนที่เป็นโรคนี้คือ “ไม่เป็นอะไรมากหรอก” “แกน่ะคิดไปเอง” หรือจะเป็นประโยคที่ทำให้คน ๆ นั้นคิดว่าเราไม่สนใจเขา ดังนั้น สิ่งแรกที่เราจะทำเพื่อคนเหล่านี้ได้คือ พยายามใส่ใจ ทำความเข้าใจในอาการ ยิ่งเรารู้ว่าความคิดของเขาไม่ปกติ ยิ่งต้องพยายามทำความเข้าใจให้มาก เพราะจะช่วยสร้างกำลังใจให้คนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดีค่ะ

deccanchronicle.com

# 3. ให้เขาได้พูดสิ่งที่อยู่ในใจ

สาว ๆ คะ เชื่อหรือไม่ว่าการที่จะช่วยให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้น อีกหนึ่งวิธีคือ เปิดใจฟังในสิ่งที่เขาพูด แม้เราจะไม่เข้าใจ แต่หลายครั้งการที่ได้ระบายความรู้สึกที่อัดอั้นในใจออกไปก็จะช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรอกค่ะที่รู้สึกดี คนปกติอย่างเรา ๆ เวลาเรื่องที่เก็บไว้ในใจแล้วได้พูดออกไปบ้าง เป็นใครใครก็รู้สึกดีทั้งนั้น มันเหมือนการยกภูเขาออกจากอก ยิ่งเป็นคนที่มีโรคแบบนี้ แล้วเขาพบคนที่สามารถรับฟังและเข้าใจในสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ได้ ไม่มองว่าเขาเป็นตัวประหลาดหรือมีความคิดที่แตกต่างจากคนอื่น แค่นี้ก็ช่วยสร้างความประทับใจและตัวผู้ป่วยเองก็จะไว้ใจเรามากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

driftwoodrecovery.com

# 4. พยายามทำให้ผู้ป่วยมองโลกในแง่ดี

เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญนะคะ เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาการอย่างแรกเลยคือการมองโลกในแง่ร้ายและทุกสิ่งรอบตัวก็ดูเหมือนจะแย่ไปหมด เขาไม่สามารถควบคุมความคิดตัวเองได้และนอกจากนี้ยังมองให้สิ่งที่ดูปกติกลายเป็นสิ่งลบ ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้นการที่เราอยู่ใกล้ ๆ และยิ่งเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อผู้ป่วยด้วยแล้ว เรายิ่งต้องช่วยให้เขาฝึกการมองโลกในแง่ดี พยายามมองทุกอย่างตามความเป็นจริง ไม่บิดเบี้ยว มองหาสิ่งดีในสถานการณ์ต่าง ๆ แม้สถานการณ์นั้นจะแย่เท่าใดก็ตาม ฟังดูอาจยากนะคะ แต่มันก็ทำได้จริง ๆ หากสาว ๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร ลองเริ่มจากการให้ผู้ป่วยฝึกเขียนขอบคุณตัวเองในแต่ละวันหรือเขียนไดอารี่พูดถึงสิ่งดีที่เจอในวันนั้น แล้วเขาจะรู้ว่าชีวิตของเราก็ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่เสมอไป หากแต่ยังมีสิ่งดี ๆ ซ่อนอยู่ในนั้นนั่นเองค่ะ

admissions.illinois.edu

# 5. ชวนเขาออกไปไหนมาไหนบ้าง

ผู้ป่วยซึมเศร้า โดยปกติแล้วจะเก็บตัวเงียบ ไม่สนใจผู้คนและมักจะอยู่คนเดียว จึงทำให้เขาสามารถจมกับความคิดลบ ๆ ได้มากขึ้นโดยง่าย ดังนั้นหากเราเป็นคนที่ดูและหรือเป็นคนใกล้ตัว ลองพยายามชวนผู้ป่วยไปไหนมาไหน ออกไปสูดอากาศนอกบ้านบ้าง ทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำบ้าง และหากเขาทำได้ดีจะทำให้เขาเริ่มมองเห็นว่าตัวเองก็มีคุณค่า สามารถทำในสิ่ง ๆ หนึ่งได้มากกว่าที่เขาคิด นั่นคือการค้นพบสิ่งใหม่ และแน่นอนว่าจะช่วยให้อาการป่วยของเขาดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะค่ะ

huffpost.com

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเคล็ดลับการรับมือกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เราเอามาฝากกันในวันนี้ จริง ๆ แล้วไม่ยากเลย เพียงแค่เราเข้าใจ ไม่มองว่าเขาแตกต่างจากเรา เราเองก็จะสามารถมีสัมพันธ์ที่ดีและเราอาจเป็นกุญแจหลักในการที่จะพัฒนาตนเองของผู้ป่วย ช่วยให้เขาดีขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่เราจะได้รับอาจไม่ใช่รางวัลหรือของขวัญชิ้นใหญ่สวยงาม หากแต่เป็นความสุขทางใจที่ได้ช่วยเหลือคน ๆ นึงให้มีคุณภาพชีวิตดีที่ขึ้น จนชีวิตของเขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลยก็เป็นได้