เคยเป็นมั้ยคะ? สมัยเด็ก ๆ ออกไปพูดหน้าชั้นเรียนทีไร เป็นต้องยืนขาสั่น อ่านออกเสียงก็ไม่ได้ มิหนำซ้ำยังรู้สึกใจเต้นแรงเหมือนเพิ่งออกกำลังกายมาอีกต่างหากถ้าสาว ๆ มีอาการแบบนี้ไม่ต้องตกใจนะคะว่าตัวเองเป็นอะไรหรือมีอะไรผิดปกติกับตัวเองรึป่าว บอกเลยว่า “ปกติมาก” แน่นอนว่าคนที่ไม่เคยออกไปพูดต่อหน้าคนอื่นย่อมเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ และความรู้สึกไม่มั่นใจนี้เองที่เป็นตัวทำให้เราเกิดความประหม่า ความเครียด จนแสดงออกมาทางร่างกายที่เป็นอย่างอาการดังกล่าว

Public Speaking มักทำให้เราเกิดอาการดังกล่าว แต่อาการเหล่านี้จะหมดไปถ้าเรารู้วิธีการพูดอย่างมือโปรและมีประสบการณ์ในการพูดมาอย่างช่ำชอง วันนี้เราจะพาสาว ๆ The Passion มาดูเทคนิคการพูดอย่างไรให้มัดใจคนฟังกัน รับรองเลยว่าออกไปพรีเซนท์งานหน้าห้องหรือต่อหน้าลูกค้าครั้งต่อไป สาว ๆ จะได้รับคำชมกลับมาอย่างแน่นอนค่ะ !

# 1. วิเคราะห์กลุ่มผู้ฟัง

แน่นอนว่าก่อนที่เราจะไปนำเสนองานให้ใครฟัง เราเองต้องรู้ก่อนว่าคนที่เราต้องพูดต่อหน้านั้น เขาเป็นใคร เขามีพื้นฐานความรู้มากน้อยแค่ไหน เราจะได้เตรียมตัวและเตรียมเรื่องที่จะพูดให้ถูก เช่น หากผู้ฟังเป็นคนที่มีความรู้ค่อนข้างมากและมีแนวโน้มที่จะถามรายละเอียดเชิงลึกกับเราค่อนข้างมาก เราเองจะได้เตรียมข้อมูลไปอย่างเพียงพอเพื่อตอบคำถามได้อย่างไม่ตะกุกตะกัก หรือหากเป็นผู้ฟังเป็นคนที่ไม่มีพื้นฐานกับเรื่องที่เราพูดเลย เราเองจะได้ใช้ภาษาและคำศัพท์ที่พูดอย่างเหมาะสม ไม่วิชาการหรือเป็นคำศัพท์เฉพาะทางจนเกินไปนั่นเอง

 

# 2. เตรียมข้อมูลที่จะนำเสนอ

การพรีเซนท์งานต่อหน้าผู้ฟัง สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือข้อมูลที่เราจะนำเสนอไปจริงมั้ยคะ หากเรารู้ล่วงหน้าว่าเราจะต้องไปพูดอะไร ก็จะทำให้เรามีเวลาในการเตรียมตัวมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาสิ่งที่จะพูด รายละเอียดต่าง ๆ กิจกรรมสำหรับผู้ฟังหรือแม้กระทั่งเอกสารประกอบการฟัง ยิ่งเรามีเวลาเตรียมตัวมากเท่าไหร่ การพรีเซนท์ก็จะออกมาดีมากขึ้นเท่านั้นค่ะ แต่ ๆ ๆ สิ่งสำคัญไปกว่าการเตรียมตัว คือ การเตรียมสุขภาพไปด้วยนะคะ เพราะถึงแม้จะเตรียมตัวดียังไงแต่ดั๊นนมาไม่สบายในวันพรีเซนท์ก็จบกันนะจ๊ะ !

# 3. ทำตัวให้คุ้นเคยกับสถานที่และอุปกรณ์

สาว ๆ คะ ใครบอกว่าสถานที่และอุปกรณ์ในการพรีเซนท์เป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ ขอบอกเลยว่าสำคัญมาก ไม่ต่างไปจากเนื้อหาที่จะนำเสนอเลย เนื่องจากทุกครั้งที่เราพรีเซนท์เราจะต้องเจอกับสถานที่ใหม่ที่ไม่คุ้นชิน และนั่นอาจทำให้เรารู้สึกประหม่าจนลืมเนื้อหาที่จะพูดได้ ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่าต้องไปนำเสนองานหรือพูดที่ไหน ควรไปก่อนเวลาเพื่อทำความคุ้นเคยกับสถานที่และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ก่อน นอกจากนั้นยังเป็นการเช็คความพร้อมก่อนลงสนามจริงด้วยค่า

tedxuniversityofnevada.org

 

# 4. อย่าท่องจำหรืออ่านเนื้อหาให้ผู้ฟังฟัง

แหม ๆ ๆ…หากพูดถึงเรื่องนี้ทีไรเป็นต้องนึกย้อนกลับไปในสมัยมัธยมทุกทีจริงมั้ยคะ? เพราะเวลารายงานหน้าชั้นเรียน เรามักจะเห็นคนที่ไม่ได้เตรียมตัวพูดมาหรืออาจเป็นตัวเราก็ได้ที่ไปยืนอ่านรายงานให้เพื่อน ๆ ฟัง ย้ำว่าอ่านนะคะ ! ไม่ใช่พูด เป็นเหตุให้ผู้ฟังรู้สึกเบื่อและไม่อยากจะฟังเนื้อหานั้น ๆ ต่อ ก็นะ ! เป็นเราเราก็คงคิดว่า ถ้าจะมาอ่านให้ฟังแบบนี้แค่แจกกระดาษ และเราเอาไปอ่านเองก็ได้ปะ? ก็จริงนิคะ ใช่มั้ย? ดังนั้นหากเราไม่อยากให้ผู้ฟังคิดแบบนี้ นั่นหมายความว่าตัวเราที่เป็นผู้พูดจะต้องมีการเตรียมตัวไปอย่างดี ต้องแน่นเนื้อหา และคิดเสมอว่าในห้องนี้ไม่มีใครที่รู้ไปมากกว่าเราอีกแล้ว แม้ว่าจะดูหลงตัวเองไปหน่อย แต่มันก็คือความจริงที่ว่า ถ้าเราเตรียมตัวไปอย่างดีเราจะกล้าและมั่นใจที่จะพูดสิ่ง ๆ นั้นออกไปอย่างไรล่ะคะ

Ryan Lash

 

# 5. สร้างความเป็นกันเองกับผู้ฟัง

ไม่มีใครหรอกค่ะ ที่ไม่รู้สึกตื่นเต้นเวลาต้องพูดต่อหน้าคนอื่น แต่สาว ๆ สังเกตหรือไม่คะว่าเวลาเราพูดต่อหน้าคนที่เรารู้จักหรือคุ้นเคยทีไร เราจะมีความตื่นเต้นน้อยลงถึงขั้นไม่มีเลย มิหนำซ้ำ บางทียังรู้สึกว่ามีความมั่นใจมากขึ้นอีกด้วย นั่นก็เป็นเพราะว่า ตัวเรารู้สึกคุ้นชินกับผู้ฟังแล้วนั่นเอง ดังนั้นหากเรากำลังพูดต่อหน้าคนอื่นอยู่ แนะนำให้สาว ๆ ชวนผู้ฟังสนทนาหรือถามคำถามพื้นฐานที่ทำให้ทั้งผู้พูดและผู้ฟังรู้สึกรีแลกซ์ นั่นจะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกเป็นกันเองกับเราและช่วยลดความประหม่าในตัวเราลงไปได้อีกด้วยค่ะ

# 6. เตรียมมุกตลกไปบ้าง

ไม่ว่าใครก็ต้องชอบคนที่มีอารมณ์ขันอยู่แล้วใช่มั้ยคะ? ก็แน่ล่ะ เพราะคนที่มีอารมณ์ขันนั้นมักจะสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ฟังเสมอ การไปพูดต่อหน้าสาธารณชนก็เช่นกัน อย่างน้อยเราที่เป็นผู้พูดควรหามุกตลกหรือเรื่องขำขันที่เกี่ยวกับเนื้อหามาหยอด สอดแทรกไปกับการพูดด้วย เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ฟังไม่เครียดจนเกินไปแล้ว ยังช่วยให้เราแก้ไขบรรยากาศที่น่าเบื่อได้ดีอีกด้วยนั่นเองค่ะ

mashable.com

# 7. สังเกตท่าทางและปฏิกิริยาของผู้ฟัง

เคยใช่มั้ยคะที่เวลาเราฟังอาจารย์บรรยายหน้าชั้นเรียน หรือหัวหน้าที่เอาแต่พูด ๆ ๆ โดยที่ไม่ได้มองเลยว่าผู้ฟังนั้นได้ทยอยเข้าไปสู่โลกของตัวเองแล้วเรียบร้อย นั่นยิ่งทำให้บรรยากาศในการฟังน่าเบื่อเข้าไปใหญ่ และทักษะการสังเกตผู้ฟังนี้เอง ที่เป็นทักษะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของผู้บรรยายเลย สาเหตุก็เพราะ หากเราเอาแต่พูดเนื้อหาที่ยืดยาวโดยไม่ได้มองผู้ฟังเลยว่าเขามีปฏิกิริยาอย่างไร อยากฟังต่อหรือไม่ หรือต้องการที่จะถาม หรืออาจจะหลับไปแล้ว ทำให้ผู้ฟังเกิดความไม่ประทับใจต่อการพูดของเราและยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่น่าเบื่อในการบรรยายครั้งนั้นด้วย ดังนั้นสาว ๆ คนไหนที่จะไปพูดก็ลองสังเกตผู้ฟังสักนิดนะคะ จะได้ไม่พูดเก้ออยู่คนเดียวโน๊ะ !

Funnywomen.com

# 8. ไม่แสดงอาการที่ดูหมิ่นผู้ฟัง

หากสาว ๆ คนไหนที่ดูรายการหรือได้มีโอกาสไปฟังการพูดหลาย ๆ ครั้ง จะมีอย่างน้อยสักครั้งที่เคยสัมผัสประสบการณ์ที่ผู้พูดทำตัว หรือพูดดูหมิ่นผู้ฟัง เพราะคิดว่าตัวเองมีความรู้มากและยิ่งใหญ่กว่าผู้ฟัง ทั้งที่ความเป็นจริง คนที่ฟังเราอาจจะมีความรู้มากกว่าเราก็ได้ ดังนั้นเราเองไม่ควรแสดงท่าทีหรือคำพูดที่ดูหมิ่นผู้ฟัง เพราะนั่นก็ไม่ต่างจากการดิสเครดิตตัวเอง อีกทั้งยังทำให้ผู้ฟังไม่เกิดความเคารพนับถือและอยากจะฟังต่อได้ รู้แบบนี้แล้ว ก็อย่าทำเชียวค่ะ !

speaks at TED2018 – The Age of Amazement, April 10 – 14, 2018, Vancouver, BC, Canada. Photo: Bret Hartman / TED

จริง ๆ แล้วการพูดให้ผู้ฟังประทับใจไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย เพียงแต่เราเองต้องศึกษาและหมั่นฝึกฝนเป็นอย่างดี นั่นจะทำให้เรารู้สึกประหม่าน้อยลง อีกทั้งหากเรามีการเตรียมตัวก่อนพูดไป ยิ่งจะทำให้การพูดนั้นเป็นที่น่าประทับใจของผู้ฟังมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นสาว ๆ คนไหนที่ต้องไปพรีเซนท์งานกับลูกค้า หรือต้องไปเป็นวิทยากรพูดอะไรก็อย่าลืมเอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้นะคะ รับรอง เวิร์ค !