ขณะที่ประเทศต่างๆทั่วโลกได้มีการประเมินความเห็นและแนวทางต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ ทางประเทศไทยได้มีการจัดนิทรรศการแสดงเสื้อผ้าของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งถือเป็นการท้าทายต่อมายาคติที่มักกล่าวโทษสาเหตุของการถูก คุกคามทางเพศ ว่าเกิดจากการแต่งกายและภาพลักษณ์ภายนอกของผู้หญิงเป็นหลักและเป็นการตั้งคำถามกับผู้คนต่อการยอมรับพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น

คุกคามทางเพศ

ภายในนิทรรศการมีการจัดแสดงเสื้อผ้าในวันเกิดเหตุของผู้ถูกคุกคามทางเพศเพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ว่าการแต่งกายล่อแหลมเป็นเหตุให้ถูกคุกคามทางเพศไม่ใช่ความจริงเสมอไปโดยเสื้อผ้าเหล่านี้ได้รับการรวบรวมจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลซึ่งทำงานเพื่อลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในประเทศไทยมาโดยตลอด และมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายที่สื่อประเด็นการถูกล่วงละเมิดและถูกคุกคามทางเพศโดย ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพแฟชั่นผู้มีฝีมือเป็นอันดับต้น ๆ ของไทยร่วมกับดารานักแสดงแถวหน้าและผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง พร้อมสื่อแบบปฎิสัมพันธ์ เพื่อชวนให้ผู้เข้าชมนิทรรศการตระหนักถึงความคิดผิดๆที่ว่าความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เป็นสิ่งที่น่าอับอายที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ และเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึง

คุกคามทางเพศ

“นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ” เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #DontTellMeHowToDress ซึ่งจัดขึ้นโดยคุณซินดี้ สิรินยา บิชอฟ เจ้าของแคมเปญ โดยกระแสการเคลื่อนไหว #DontTellHowToDress ในประเทศไทย เป็นเหมือนกับกระแสตอบรับของ #MeToo ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นการริเริ่มโดยกลุ่มของผู้มีชื่อเสียงและนักเคลื่อนไหวเพื่อเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนคติทางสังคมต่อความรุนแรงทางเพศ และการเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อ

คุกคามทางเพศ

“วันนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาการลวนลามและการคุกคามทางเพศในสังคมไทยเป็นเรื่องใหญ่และไม่เป็นที่พูดถึงกันนักในสังคมของเรา” ซินดี้ สิรินยา บิชอฟ นางแบบและนักแสดงชื่อดังกล่าว “รวมถึงหลายกรณีที่ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศจะต้องเผชิญกับมายาคติเชิงลบ รวมถึงวัฒนธรรมการกล่าวโทษเหยื่อ ทางออกของปัญหาการคุกคามทางเพศไม่ได้จำกัดอยู่ที่การควบคุมการแต่งกายของผู้หญิง แต่อยู่ที่การร่วมมือกันของทุกฝ่ายในสังคม ไม่ว่าจะกระบวนการยุติธรรมและภาครัฐเพื่อให้สังคมไทยปลอดภัยและมีการให้เกียรติกันมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนและการให้กำลังใจจากคนรอบตัว”

คุกคามทางเพศ

“สถานการณ์การคุกคามทางเพศที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวมจากสื่อมาตั้งแต่ ปี 2558 พบว่า โดยเฉลี่ยการข่มขืนคุกคามทางเพศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันสถิติผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงจะอายุน้อยลง ผู้กระทำมักเป็นบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด” รองศาสตรจารย์อภิญญา เวชยชัย ประธานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าว “สาเหตุปัจจัยนำจากข่าวเป็นกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด แต่จากการทำงานพบว่าปัจจัยรากฐานเกิดจาก ทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่และมองผู้หญิงแบบอคติ เชื่อว่าผู้ชายมีอำนาจมากกว่าและสามารถทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้ มาตรการในการแก้ไขปัญหาปัจจุบันต้องเริ่มจากการมีความตระหนักถึงสิทธิในตัวผู้หญิง การทำความเข้าใจกับคุณค่าที่อยู่ภายในตัวตนของตัวผู้หญิงเอง ไม่จำนนต่อค่านิยมและความเชื่อผิดๆที่ผู้ชายและสังคมโยนใส่ให้เราเพื่อสร้างแนวร่วมของความเข้าใจนี้ให้แข็งแกร่งด้วยมิตรภาพของความเป็นเพื่อนมนุษย์”

คุกคามทางเพศ

รายงานการศึกษาเรื่อง “การพิจารณาคดีข่มขืน: ความเข้าใจเรื่องการตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อความรุนแรงทางเพศในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม” พบว่า มีความเข้าใจผิดในวงกว้างเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงทางเพศ กล่าวคือเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมหลายคนยังคงความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศว่า เหตุการณ์การคุกคามทางเพศจะเกิดจริงต่อเมื่อเหยื่อมีอาการบาดเจ็บที่มองเห็นได้ชัด และความรุนแรงทางเพศมักกระทำโดยคนแปลกหน้า ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้หญิงไม่ได้เรียกร้องขอความช่วยเหลือเพราะเมื่อพวกเขาพูดออกไป น้อยคนนักที่จะเชื่อ

เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศแคมเปญ #DontTellMeHowToDress จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อลบล้างมายาคติที่ว่า ผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการแต่งกายล่อแหลมหรือการนำตัวเองไปตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง เพราะนั่นเป็นเหตุให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศและการคุกคามทางเพศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงการที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษอย่างเหมาะสมต่อการกระทำของตนเอง และเพื่อให้สังคมหันกลับมาตั้งคำถามกับผู้กระทำผิดมากกว่าพฤติกรรมของผู้เสียหายเพียงฝ่ายเดียว

คุกคามทางเพศ

สิ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกระแส #Metoo เชื่อมทุกคนเข้าด้วยกันอย่างทรงพลัง คือการที่ทำให้สังคมหันมาให้ความสำคัญต่อประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศของผู้หญิง ให้ผู้ถูกกระทำได้มีพื้นที่ที่จะกล้าออกมาพูด พื้นที่ที่มีผู้รับฟัง และพื้นที่ที่มีผู้คนคอยให้กำลังใจและแรงสนับสนุน และนำไปสู่การที่ผู้กระทำความผิดได้รับโทษที่เหมาะสม ซึ่งการที่ทำให้คนตระหนักถึงการคุกคามทางเพศและความรุนแรงทางเพศจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อปัญหานี้มีการพูดถึงอย่างอิสระ และเมื่อผู้เสียหายกล้าที่จะออกมาบอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และได้รับการดูแลในทันที แม้การพูดถึงประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศจะเป็นเรื่องยาก แต่ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะพูดมันออกมา” Anna-Karin Jatfors ผู้อำนวยการUN Women ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว

คุกคามทางเพศ

นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ” เกิดจากการร่วมมือกันของ ซินดี้ สิรินยา บิชอพ, UN Women , มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ดู ดิด ดัน จํากัด บริษัท รพินท์นิภา จำกัด และบริษัท ไวท์ คิทเช่น จำกัด ร่วมกับศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ณัฐ ประกอบสันติสุข จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย และ ชำนัญ ภักดีสุข นักแสดงและผู้มีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ประกอบไปด้วย เมธินี กิ่งพโยม ลลิตา ปัญโญภาส ตรีชฎา เพชรรัตน์                 สินจัย เปล่งพานิช วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา  ปาณิสรา อารยะสกุล  ดาวิกา โฮร์เน่  ราณี เคมเปญ  อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง ฟิลลิป ทินโรจน์  อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม  ภาคิณ คำวิไลศักดิ์  ยูมิ อิงคะวัต  เมนาท นันทขว้าง แอน มิตรชัย และ กันต์ กันตถาวร

คุกคามทางเพศ

 

คุกคามทางเพศ

 

คุกคามทางเพศ

 

#DontTellMeHowToDress

 

คุกคามทางเพศ

นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2561 – 1 กรกฎาคม 2561 ณ Fashion Hall ชั้น 1ศูนย์การค้าสยามพารากอน และวันที่ 4-15 กรกฎาคม 2561 ณ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ #donttellmehowtodress