สาว ๆ คะ ในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ทั้งความกดดันไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การเรียน การจราจร รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่ออารมณ์ของเราทั้งสิ้น และแน่นอนว่าเมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้อยู่บ่อยครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมโรคซึมเศร้า ถึงเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราได้ง่าย ๆ

เมื่อพูดถึง โรคซึมเศร้า แล้ว สาว ๆ หลาย ๆ คนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว “ตัวฉันไม่เป็นหรอก” นี่คือความคิดแรกของเราที่มักจะคิดถึงมาหากพูดถึงโรคนี้ วันนี้ The Passion จะเอาเคล็ดลับและความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาฝากสาว ๆ พร้อมทั้งเปิดวิธีรับมือ เมื่อเราเข้าข่ายเป็น โรคซึมเศร้า อีกด้วยค่ะ

thestatesman.com

ก่อนอื่นเลย เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ากันก่อน หลาย ๆ คนอาจเข้าใจว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะต้องมีพื้นฐานด้านจิตใจที่ค่อนข้างอ่อนแอ หรือเป็นคนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความยากลำบากอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจจนทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่จริง ๆ แล้ว การที่ใครจะเป็นโรคซึมเศร้านั้น ไม่ได้ขึ้นกับสภาพจิตใจของคน ๆ นั้นเพียงอย่างเดียว หากแต่มีเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสภาพร่างกายของคนเราเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย โรคซึมเศร้าที่หลาย ๆ คนพูดถึงนั้น จริง ๆ แล้วจะหมายถึงตัวโรค ซึ่งไม่ใช่ว่าใครก็เป็นกันได้ง่าย ๆ แต่ว่าต้องมีการทดสอบจากนักจิตวิทยาและจิตแพทย์จนคะแนนการทดสอบนั้นเข้าเกณฑ์การเป็นโรคซึมเศร้า จึงจะสรุปได้ว่าคน ๆ นี้เป็นโรคซึมเศร้าอยู่จริง ๆ

โรคซึมเศร้า

แล้วคำว่าโรคซึมเศร้าที่เราพูด ๆ กัน มันคืออะไรล่ะ?

คำว่า “ซึมเศร้า” นั้น เป็นภาวะการป่วยทางจิตที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก วัยรุ่นและคนชรา อาการของโรคซึมเศร้าจะส่งผลต่อสภาพความคิด จิตใจและร่างกายคน ๆ นั้น จนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก เช่น กินข้าวได้น้อยลง ร้องไห้ง่าย ๆ นอนไม่หลับ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าและไม่มีความสุขในชีวิต ไปจนถึงการมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

สิ่งที่อันตรายของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีความคิดลบอย่างมาก โดยเฉพาะกับตัวเอง นักจิตวิทยาจึงต้องมีการถามเสมอว่ามีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นหรือไม่ เพราะเมื่อคน ๆ นั้นเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว จะขาดความยั้งคิด สามารถทำร้ายตัวเองได้โดยที่ไม่กลัวความเจ็บอะไรเลย เราจึงเห็นได้ว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าโรคอื่น ๆ นั่นเอง

qvtp.co.nz

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?

เชื่อว่าสาว ๆ หลาย ๆ คนอาจเคยมีอารมณ์ที่เศร้า เหงา หดหู่ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำอะไรก็รู้สึกไม่สนุก เบื่อหน่ายกับทุกสิ่งทุกอย่างใช่มั้ยคะ และนั่นทำให้หลาย ๆ คนคิดว่า “เอ๊ะ ! ตัวฉันเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นะ” อย่างที่บอกไปค่ะว่าการเป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ หากเรามีอาการเหล่านี้เพียงแค่สองสามวันหรือหนึ่งสัปดาห์ล่ะก็ ขอบอกเลยว่ามันเป็นเพียงอารมณ์ช่วงหนึ่งเท่านั้นล่ะค่ะ ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าอะไรหรอก แต่ว่าหากใครที่มีอาการมากกว่านี้ เราลองมาเช็คกันดูดีกว่าว่าตัวเราเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

อาการของโรคซึมเศร้า

  • มีความรู้สึกหมดหวังกับทุกอย่าง ไม่รู้เลยว่าจะทำอะไรต่อไป
  • ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ชอบ เช่น หากใครเคยชอบดูหนังมาก ๆ ก็อาจเบื่อและไม่อยากทำไปซะดื้อ ๆ
  • น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นเร็วมากซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมือนเดิม
  • นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
  • มีอาการเครียด หงุดหงิดง่ายขึ้น ไม่รู้สึกผ่อนคลาย
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ และมีปัญหาในการตัดสินใจ
  • มีการเคลื่อนไหวร่างกายและการพูดที่ช้าลง เพราะมาจากการคิดว่าร่างกายอ่อนแรง
  • รู้สึกอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย

หากสาว ๆ มีอาการเหล่านี้ล่ะก็พึงระวังไว้เลยว่าตัวเราอาจมีแนวโน้มเข้าข่ายการเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้ และแน่นอนว่าคีย์เวิร์ดสำคัญของการจะรู้ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ก็คือ “อาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากน้อยเพียงใด” นั่นเอง

baltana.com

วิธีการรับมือเมื่อเราเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

1. หางานอดิเรกทำ

สิ่งสุดยอดเบสิคที่สามารถรักษาอาการทางใจได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมาธิ ความเหงา ความเศร้า ความเซ็ง ยิ่งสาว ๆ รู้ตัวว่าเราอาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ลองหางานอดิเรกที่ตัวเองชอบดูสิคะ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ควรเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และทำให้เรารู้สึก flow คือ สามารถทำได้อย่างมีความสุขและลืมสิ่งรอบข้างไปได้ เช่น การปลูกต้นไม้ การเล่นดนตรี การทำอาหารหรือแม้กระทั่งการวาดรูป สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สาว ๆ ลืมความเศร้า ความเครียดที่ต้องเจอ และเมื่อเราทำได้ดีเราจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า อันจะเป็นการป้องกันการเป็นโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ

2. ออกกำลังกาย

อย่างที่เราได้เกริ่นไปว่าโรคซึมเศร้า หนึ่งในสาเหตุหลักก็มาจากการภาวะทางกายที่บกพร่องไปด้วย และนั่นทำให้การคิดหรือการทำสิ่งต่าง ๆ เรามีประสิทธิภาพลดลง การออกกำลังกายจะเป็นตัวช่วยอย่างดีที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายของเรากลับมาได้เร็ว เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายของเราจะผลิตฮอร์โทนเอ็นโดรฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ทำให้เรามีความสุข อีกทั้งยังกระตุ้นให้สมองตื่นตัวและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

นอกจากจะออกกำลังกายให้แข็งแรงแล้ว การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ป้องกันโรคซึมเศร้าได้เป็ยอย่างดี ถามว่ามันเกี่ยวกันยังไงล่ะ? มันเกี่ยวสิคะ เพราะการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์นั้นจะช่วยให้ร่างกายของเราได้รับอาหารอย่างเพียงพอ มีแรงที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ และยังช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นอีกด้วยค่ะ !

4. เขียนไดอารี่

สาว ๆ รู้หรือไม่คะ การเขียนไดอารี่ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยรับมือกับอาการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี ยังไงน่ะหรอ? เพราะเราจะได้ทบทวนตัวเองอยู่เสมออย่างไรล่ะคะ หากสาว ๆ คิดว่าตัวเองเข้าข่ายการเป็นโรคซึมเศร้า ลองเขียนไดอารี่ขอบคุณตัวเองหรือเขียนสิ่งดี ๆ ที่เจอในแต่ละวันลงไปในไดอารี่ มันจะเป็นการช่วยให้เราจำได้ว่าตัวเรานั้นก็มีดี อีกทั้งในแต่ละวันไม่ว่าจะเจอเรื่องร้ายขนาดไหนก็ยังมีเรื่องดีอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยให้เรารู้สึกมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ

5. ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ให้กับตัวเอง

อย่างที่เราได้บอกไป การเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนหนึ่งเกิดการจากการที่เราคิดว่าเราไม่มีคุณค่า จึงทำให้รู้สึกว่าอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์จึงก่อให้เกิดการทำร้ายตัวเองเกิดขึ้นนั่นเอง วิธีแก้อีกหนึ่งอย่างที่ได้ผลคือการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ให้กับตัวเองและทำให้สำเร็จ จะช่วยให้เรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จและมีความมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเคล็ดลับดี ๆ ที่เราเอามาฝากกัน จริง ๆ แล้วการเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดหากเรารู้จักวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง นอกจากนี้เราควรคิดเสมอว่าปัญหาที่เจอนั้นมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้เครียดและเศร้า ตัวเราที่อยู่ในยุคแห่งความเร่งรีบนี้จึงต้องรู้จักบริหารชีวิตให้ดี ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและรักตัวเองที่สุด แล้วเราจะห่างไกลจากการเป็นโรคซึมเศร้าจนสามารถกลับมารักตัวเองได้อีกครั้งหนึ่งค่ะ ด้วยรัก จาก The Passion