• โรคซึมเศร้าเป็นอาการทางจิตเวชที่ไม่ใช่แค่ความรู้สึกเศร้าชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่ความเศร้านั้นจะดิ่งลึก กินเวลายาวนาน หมดพลังในการใช้ชีวิต แทบไม่มีแรงกายและใจจะลุกขึ้นมาทำสิ่งใด
  • การเกิดโรคนี้ไม่ได้เป็นเพราะคนๆนั้นเป็นคนอ่อนแอ และไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำ แต่ตัวโรคเองที่ทำให้คนที่เคยแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ กลายเป็นคนที่มีความคิดด้านลบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
  • โรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีทั้งการพบจิตแพทย์ หากอาการหนักต้องรับประทานยา เมื่อดีขึ้นแล้วจึงค่อยปรับพฤติกรรม

โรคซึมเศร้า ภัยร้ายที่กัดกินชีวิตและจิตใจคนทุกสาขาอาชีพไม่เว้นแม้แต่ไอดอลเกาหลีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง ‘ซอลลี่’ อดีตสมาชิกวง F(x) รวมถึงนักแสดงหนุ่มชาวไทย ‘คุณเหม – ภูมิภาฑิต’ เราสูญเสียผู้คนมากมายไปจากโรคนี้ ปัจจัยหนึ่งนอกจากการพบจิตแพทย์เพื่อแก้ปมปัญหาและรับประทานยาในรายที่มีอาการค่อนข้างหนัก คือกำลังใจจากคนรอบข้าง

วันนี้ ThePassion ขอเสนอวิธีอยู่ร่วมกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพื่อที่เราจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่สร้างปัญหาใหม่ บรรเทาปัญหาเดิม และยังอาจรักษาชีวิตคนได้อีกคนหนึ่งเลยทีเดียว

 

 ทำตัวให้เป็นปกติ 

หลายคนพอรู้ว่าเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า ก็คิดว่าต้องเอาใจเพื่อนให้มากเป็นพิเศษ มากจนเกินกว่าปกติ แต่รู้ไหมว่าการที่สาว ๆ ยิ่งปฏิบัติต่อเพื่อนจนดูมากเกินไป ผู้ป่วยจะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ ไม่ได้เรื่อง ดูแลตัวเองไม่ได้และเป็นภาระกับผู้อื่นมากขึ้น จะยิ่งโทษตัวเอง เพราะฉะนั้นเคยปฏิบัติต่อกันอย่างไรก็ให้ทำแบบเดิม ใส่ใจกันแต่พอดี ให้กำลังใจและเว้นระยะพอให้เขารู้สึกว่าตัวเองยังเป็นที่ต้องการ เวลาที่ถามไถ่เพื่อนด้วยความเป็นห่วง ให้ปรับใจตัวเอง คุมน้ำเสียงให้เป็นปกติ เป็นธรรมชาติ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับการปฏิบัติอย่างที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน

 ระวังคำพูด 

คำพูดให้กำลังใจเล็กๆ  อาจช่วยเหลือเพื่อนในยามที่ท้อแท้ได้ สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคำฟังแล้วมีกำลังใจ แต่คำอีกหลายคำก็ทิ่มแทงจิตใจ 

คำพูดบางอย่างเหมาะสมที่จะพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เช่น อยากให้ฉันกอดไหม เธอไม่ได้อยู่คนเดียวนะ เธอสำคัญสำหรับเสมอนะ ฉันจะอยู่ข้างๆ เธอนะ ฉันอาจไม่เข้าใจ แต่เข้าใจเธอนะ ฉันรักเธอนะ

ส่วนคำพูดที่ควรหลีกเลี่ยงคือ  ลืมๆ มันไปซะเถอะ ไม่อยากรู้สึกแบบนี้ ก็เลิกคิดสิ ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็ผ่านไป จะเศร้าไปถึงไหนกัน เข้าใจว่ารู้สึกอย่างไร ฉันก็เคยเป็น เลิกเศร้าได้แล้ว

 รับฟังด้วยความเข้าใจ 

สิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการมาก คือความเข้าใจ สิ่งที่เราซึ่งเป็นคนใกล้ชิดสามารถทำได้คือการเป็นผู้ฟังที่ดี หมายถึงรับฟังแต่ไม่ตัดสินหรือเอาแต่อยากจะให้คำแนะนำว่าต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ แค่เพียงรับฟังให้เขารู้สึกว่าเขายังมีคนอยู่เคียงข้าง ถ้าไม่รู้ว่าจะพูดอะไร เพียงนั่งอยู่ใกล้ๆ หรือสัมผัสเพื่อแสดงความรู้สึก

 พาออกมาหากิจกรรมทำร่วมกับผู้อื่น 

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน รวมทั้งผลักไสความหวังดี ผลักไสผู้คนให้ออกห่างจากตัวเอง ซึ่งเป็นภาวะทางใจที่คุมไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นสุดๆ สำหรับผู้ป่วย คือ การออกมามีปฏิสัมพันธ์ ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น

ดังนั้นคนใกล้ชิดต้องหมั่นชวนผู้ที่มีอาการซึมเศร้าออกไปทำกิจกรรมบ่อยๆ แน่นอนว่าจะได้ยินคำปฏิเสธจนแทบทนไม่ไหว แต่เชื่อเถอะว่าให้ชวนไปเรื่อยๆ ขอให้มาเป็นเพื่อนเราก็ได้ ห้ามถอดใจเด็ดขาด เพราะการได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น ออกกำลังกาย งานฝีมือ ชมธรรมชาติ ทำขนม ทำอาหาร จะช่วยดึงผู้ป่วยออกมาจากการจมดิ่ง ให้มาสนใจกิจกรรมที่ต้องทำตรงหน้า ซึ่งอย่างน้อย ณ ขณะนั้นก็จะทำให้เพื่อนรู้สึกดีขึ้นเยอะมากกก

โรคซึมเศร้า ต้องใช้ความเข้าใจและระยะเวลาในการรักษา คนรอบข้างผู้ป่วยมีส่วนอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษาและการใช้ชีวิต ThePassion ขอให้ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกคนเข้มแข็ง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยข้ามผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายเหล่านี้ไปได้ด้วยความรักและความเข้าใจจากทุกคน